วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความผิดพลาดของ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น"

"ไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่ต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง แม้แต่ประเด็นทางธรรมะต่างๆ ที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง ก็น่าจะมีผู้รู้ทางปรัชญาและพุทธศาสนามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน"

กลายเป็นประเด็นร้อนถกเถียงกันตามหน้าเวบบล็อก เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคนอ่านทั่วไปขึ้นมาทีเดียว กรณีนักเขียนและนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ตัวจริงเสียงจริงอย่าง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ออกมาทักท้วงถึงความถูกต้องของข้อมูลจากหนังสือขายดิบขายดีเรื่อง ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็นและฟิสิกส์นิวตัน งานเขียนของทันตแพทย์สม สุจีรา นักเขียนที่กำลังฮิตฮอตอยู่ในเวลานี้

ต้องยอมรับว่าหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" นั้นได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 40 ครั้ง ยอดพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 100,000 เล่ม ล่าสุดทางสำนักพิมพ์ได้มีการระงับการพิมพ์เพิ่มหนังสือทั้ง 2 เล่มแล้วจนกว่าจะได้รับการแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว

ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายจาก ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ว่าทำไมถึงต้องออกมาท้วงติงและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหลักธรรมทางศาสนา ว่ามีการบิดเบือนและคลาดเคลื่อนด้วยหรือไม่

>กรณีที่มีการระงับการพิมพ์เพิ่มหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ ฟิสิกส์นิวตัน และ ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น จนกว่าจะมีการแก้ไขนี้ ประเด็นสำคัญคืออะไร?

ก่อนอื่นผมต้องขอชื่นชมสปิริตของผู้เขียนและชื่นชมความเป็นองค์กรคุณภาพของสำนักพิมพ์ ที่เมื่อทราบว่าหนังสือทั้งสองเล่มมีข้อผิดพลาดมาก ก็ได้ระงับการพิมพ์เพิ่มไว้ก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไข ผมมองว่าแก่นของปัญหานี้คือ การขาดการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ ก่อนที่จะทำการพิมพ์หนังสือออกมา หนังสือทั้งสองเล่มนี้ มีการอ้างอิงถึงหลักการ ทฤษฎีและข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์อย่างมาก

ในกรณีที่มีการอ้างถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้ น่าจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมด้วย มิฉะนั้นก็จะมีความเสี่ยงที่หนังสือจะให้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้

ที่ว่ามีความเสี่ยงก็คือ หากผู้เขียนมีความรู้ที่ถูกต้องและนำเสนอได้อย่างแม่นยำ หนังสือก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและกองบรรณาธิการไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลและความรู้นั้นได้ ก็จะทำให้หนังสือมีที่ผิด หากคลาดเคลื่อนมากก็จะมีที่ผิดมากตามไปด้วย

>บางคนอาจมองว่าหนังสือสองเล่มนี้ เขียนเพื่อให้ความบันเทิงมากกว่าให้ความรู้ คือแม้จะผิดพลาดมากก็คงไม่เป็นไร?

ลองมาดูทีละเล่ม ฟิสิกส์นิวตัน ระบุที่หน้าปกว่า "เสริมหลักสูตรวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย" และ "เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป" ดังนั้น เล่มนี้จึงต้องการให้ความรู้ทางฟิสิกส์ที่ถูกต้องแก่กลุ่มเป้าหมาย โดยมีจุดพิเศษคือเป็น "ปรากฏการณ์ใหม่ของการเรียนฟิสิกส์จากจินตนาการและความเข้าใจ"

ส่วนเล่ม ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น นั้นต้องการแสดงให้เห็นว่า "ธรรมะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์" และ "บางสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาก่อนแล้วนับพันปี" จุดสำคัญก็คือหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนในลักษณะของนิยายหรือเรื่องสั้น แต่มีลักษณะให้ข้อมูลทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาพร้อมการวิเคราะห์ ตลอดจนการแทรกข้อคิดเห็นของผู้เขียนลงไปจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้จัดพิมพ์ยังเป็นสำนักพิมพ์ที่มีผลงานน่าเชื่อถือสูงมาก อันเกิดจากการให้ความสำคัญกับคุณภาพของหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ เสมอมา

อย่างไรก็ดี สำนักพิมพ์จัดหนังสือเล่มนี้อยู่ใน ชุดธรรมะวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีผู้อ่านส่วนหนึ่งอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ก็ย่อมจะมีผู้อ่านอีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงทั้งทางวิทยาศาสตร์และธรรมะและต้องการจะเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และธรรมะ มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร

พูดถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่ต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง แม้แต่ประเด็นทางธรรมะต่างๆ ที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง ก็น่าจะมีผู้รู้ทางปรัชญาและพุทธศาสนามาตรวจสอบด้วยเช่นกัน หากสำนักพิมพ์ต้องการให้หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นทุกเล่มในชุดธรรมะวิทยาศาสตร์นี้มีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้เขียน ผู้อ่าน และสำนักพิมพ์นั้นๆ เอง

มองในระยะยาวออกไป ย่อมเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการอ้างถึงหนังสือเล่มหนึ่งๆ ออกไป เพื่ออ้างอิงหรือเพื่อต่อยอดทางความคิด หากหนังสือที่ถูกอ้างถึงผิดพลาดมากเสียแล้ว ผลลัพธ์ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรก็สุดจะหยั่งถึงครับ

>กรณีของหนังสือ "ฟิสิกส์นิวตัน" มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร?

หนังสือเล่มนี้ นำเสนอประเด็นพื้นฐานทางฟิสิกส์หลายอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การให้ความหมายของแรงปฏิกิริยา (reaction) ผิดพลาด ในหน้า 70 และ ความสับสนระหว่างการหมุน (rotation) กับการเคลื่อนที่เป็นวงกลม (circular motion) ในบทที่ 5 และประเด็นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งดังที่มีผู้ชี้ให้เห็นในเว็บ Pantip.com ห้องหว้ากอแล้ว

นอกจากนี้ยังมี การใช้คำที่แสดงถึงความไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงในทางวิชาการ อีกจำนวนหนึ่ง ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น "Young's modulus เป็นการวัดขนาดความแข็งของวัตถุ" ซึ่งที่ถูกต้องได้แก่ "ค่ามอดุลัสของยัง (Young's modulus) เป็นสมบัติทางกลแบบหนึ่งของวัสดุที่คำนวณได้จากความชันของเส้นกราฟ ระหว่างความเค้นกับความเครียดในช่วงยืดหยุ่น"

ส่วนความแข็งของวัสดุเรียกว่า hardness เป็นสมบัติทางกลที่มีวิธีการวัดค่าได้หลายแบบ แต่หลักๆ ก็คือเป็นสมบัติของพื้นผิวที่ต้านทานต่อแรงกดหรือแรงที่มาขูดขีดผิวในพื้นที่แคบๆ จะเห็นว่าเพียงแค่ประโยคสั้นๆ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรน่าสงสัยนี้ หากผู้รู้มาพบเข้าและแก้ไขให้ ก็จะถูกขยายความออกมามากทีเดียว

>การแก้ไขหนังสือ "ฟิสิกส์นิวตัน" สามารถทำได้อย่างไร?

สามารถทำได้และสมควรทำอย่างยิ่ง เพราะนี่คือหนังสือที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมปลายสนใจและเข้าใจวิชาฟิสิกส์อย่างถูกต้อง การแก้ไขคงต้องทำในหลายส่วน ในส่วนผู้เขียนจำเป็นต้องทบทวนความรู้หรือเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าหนังสือหรือบุคคล โดยทั้งนี้ต้องระมัดระวังการตีความและการคาดเดา ที่เกินเลยจากบริบทการใช้งานของทฤษฎีและความรู้ชุดหนึ่งๆ

ในส่วนของบรรณาธิการ จำเป็นต้องมีนักฟิสิกส์ที่มีความรู้อย่างน้อยระดับปริญญาโทเข้ามาตรวจสอบ เพราะในฉบับการพิมพ์ครั้งแรกๆ นั้นมีการอ้างถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์กายภาพอื่นๆ เช่น เอนโทรปี (entropy) ทฤษฎีเคออส (chaos theory) และจักรวาลวิทยา (cosmology) นักฟิสิกส์ที่จะทำหน้าที่นี้ หากมีใจรักทางด้านการศึกษาด้วยก็จะดียิ่ง เพราะนี่คือหนังสือสำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องถูกต้อง อ่านสนุกเพลิดเพลิน ตรงตามความประสงค์ของผู้จัดทำ

ในส่วนของหนังสือที่ขายไปแล้ว คงต้องแล้วแต่ว่า สำนักพิมพ์จะดำเนินการบรรเทาความเข้าใจผิดทางวิชาการที่แพร่กระจายออกไปแล้วอย่างไร เช่น มีผู้เสนอไว้ในเว็บว่า อาจมีการจัดทำไฟล์ที่แก้ไขอย่างดีแล้วขึ้นเว็บ แล้วจัดแถลงข่าวให้ผู้ที่ซื้อหนังสือไปมาดาวน์โหลดไฟล์ดังกล่าว เป็นต้น

>แล้วหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนตรงไหนบ้าง?

เรียนตามตรงว่ากรณีของหนังสือเล่มนี้นั้น ซับซ้อนกว่ากรณีหนังสือ "ฟิสิกส์นิวตัน" มากทีเดียว เพราะหนังสือ "ฟิสิกส์นิวตัน" เป็นหนังสือแค่ระดับมัธยมปลาย ถ้าตอนผมเรียนก็แค่ชั้น ม.4 แต่ยังมีที่ผิดในระดับแนวคิดพื้นฐานอย่างเรื่องแรงปฏิกิริยาเลย

แต่หนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น อ้างถึงวิทยาศาสตร์ที่สูงกว่า คืออย่างต่ำๆ ก็ปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ โดยมีเรื่องเฉพาะทางบางเรื่องที่ต้องไปเจาะลึกต่อ แล้วแต่ความสนใจของผู้ที่เรียนฟิสิกส์แต่ละคน เช่น จักรวาลวิทยา (cosmology) ในหน้า 31 ทฤษฎีสตริง (string theory) ในหน้า 39 ทฤษฎีเคออส (chaos theory) ในหน้า 128 และทฤษฎีสัมพัทธภาพ (relativity) ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในเล่มเมื่อกล่าวถึงแสงและเวลา เป็นต้น

เนื่องจากความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนมีมาก ผมจะขอแบ่งเป็น 2 ลักษณะหลักๆ ได้แก่ หนึ่ง-ความผิดพลาดในแง่ของข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา และ สอง-ความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนในประเด็นที่ซับซ้อน

แบบแรกแก้ไขได้ไม่ลำบากนัก แต่แบบหลังอาจจะต้องเขียนบทความขนาดยาวเพื่ออธิบายกันเลยทีเดียว นอกจากความผิดพลาดที่เห็นได้อย่างชัดเจน 2 อย่างนี้แล้วยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจ คือ การนำเสนอแทบจะไม่ได้แยกแยะระหว่าง ข้อเท็จจริง (fact) การตีความ (interpretation) และการคาดเดา (speculation) เลย ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอ สามารถจัดระดับความน่าเชื่อถือของข้อความได้

>ช่วยยกตัวอย่างความผิดพลาดด้วยครับ?

เรื่องนี้ผมเขียนไว้ในเว็บบางส่วนแล้ว พอเป็นตัวอย่างนิดหน่อย แต่จะขอเพิ่มเติมบ้าง กรณีตัวอย่างความผิดพลาดลักษณะแรก (แก้ไขง่าย) เช่น "...วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา (หมายถึง เดอบรอย) ที่ยืนยันว่าอิเล็กตรอนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า..." (ที่ถูกต้องคือ "....ที่ถือเสมือนว่า อิเล็กตรอนสามารถประพฤติตัวเป็นคลื่นได้" (หน้า 16) และ "คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมด ต้องถือเป็นอนุภาค และอนุภาคทุกชนิดต้องถือว่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า" (ที่ถูกต้องคือ "คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจประพฤติตัวเป็นคลื่นหรืออนุภาคได้ แล้วแต่สภาวะเงื่อนไขที่เราทำการสังเกต" (หน้า 17)

หรือมีตัวอย่างประโยคที่ซ้อนความคิดหลายชั้น มีถูกมีผิดปนกัน ทำให้ต้องค่อยๆ แยกแยะอย่างระมัดระวัง เช่น "แสงจะเดินทางช้าลงได้ที่อุณหภูมิใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ (-273 องศาเซลเซียส) ซึ่งยังไม่มีห้องทดลองที่ไหนทำได้ และถึงทำได้มนุษย์ ก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นานเมื่อเข้าไปอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำขนาดนั้น" (หน้า 65)

ข้อความ "แสงจะเดินทางช้าลงได้ที่อุณหภูมิใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ (-273 องศาเซลเซียส)" - ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง

ข้อความ "...ซึ่งยังไม่มีห้องทดลองที่ไหนทำได้ และถึงทำได้มนุษย์ก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นานเมื่อเข้าไปอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำขนาดนั้น" - ข้อความนี้ถูกต้องเฉพาะท่อนแรก คือยังไม่มีใครสร้างอุณหภูมิศูนย์เคลวินได้ เพราะกฎข้อที่สามของเทอร์โมไดนามิกส์ห้ามเอาไว้

แต่มีการทดลองบางอย่างที่สามารถลดอุณหภูมิลงจนต่ำมากๆ ได้ และที่สำคัญคือ การลดอุณหภูมินั้น ไม่จำเป็นต้องทำกับห้องที่คนอาศัยอยู่ แต่สามารถทำภายในแชมเบอร์ที่ควบคุมอุณหภูมิ ข้อสรุปที่ว่า "ถึงทำได้มนุษย์ก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน..." จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจเงื่อนไขในการทดลอง

คุณจะเห็นว่าแค่เพียงประโยค 2 บรรทัดในตัวอย่างหลังสุดนี้ ยังมีแง่มุมละเอียดอ่อนที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหากจะแก้ไขต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว และประโยคในลักษณะนี้เองที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังสือเล่มนี้ ทำให้หนังสือเล่มนี้ซึ่งอ่านง่าย แต่จะแก้ไขให้ถูกต้องนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ความรู้และความอดทนอย่างมาก

ส่วนตัวอย่างของกรณีที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามในการปรับแก้นั้น มักจะปรากฏขึ้นเมื่อกล่าวถึงแนวคิด หลักการหรือทฤษฎีที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น เมื่อกล่าวถึงทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) ในข้อความที่ว่า "ทฤษฎีแห่งความยุ่งเหยิง (Chaos Theory) ถือว่าเป็นทฤษฎีแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถเข้ามาแทนที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ความมหัศจรรย์ของทฤษฎีนี้ก็คือ สามารถนำไปใช้อธิบายระบบได้ทุกระบบ" (หน้า 77)

(ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง เพราะทฤษฎีเคออส ศึกษาระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นซึ่งมีพฤติกรรมไวต่อเงื่อนไขตั้งต้น ส่วนทฤษฎีสัมพัทธภาพมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ซึ่งศึกษาการสังเกตปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ในกรอบอ้างอิงเฉื่อย และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งศึกษาปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ในกรอบอ้างอิงที่มีความเร่งหรือมีความโน้มถ่วง) การที่จะอ้างถึงเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้อง จำเป็นต้องเข้าใจพื้นฐานของทฤษฎีที่กล่าวถึงอย่างถ่องแท้

>แล้วทางแก้ไขสำหรับหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ควรเป็นอย่างไร?

คงต้องมองจากหลายๆ ฝ่ายทั้งทางฟากอาจารย์และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผมกำลังประสานงานกับ ดร.อรรถกฤติ ฉัตรภูติ แห่ง ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดสัมมนาในประเด็นที่ว่า เหตุใดฟิสิกส์ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำ จึงถูกเข้าใจอย่างคลาดเคลื่อนได้มากถึงเพียงนี้และทางนักวิชาการจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร เป็นต้น

ล่าสุดอาจารย์แจ้งว่า เสียงตอบรับค่อนข้างดีและหัวหน้าภาควิชาฯ รับทราบเรื่องโดยเบื้องต้นแล้ว ส่วนทางผู้เขียนและสำนักพิมพ์นั้น ก็คงจะต้องหานักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถและมีเวลาเพียงพอที่จะลงในระดับรายละเอียด

คำว่านักวิชาการนี้ผมคิดว่าถ้ามีได้ทั้งทางวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะผู้ที่รู้ฟิสิกส์ยุคใหม่อย่างดี รวมทั้งผู้รู้ทางศาสนา อาจจะเป็นพระหรืออาจารย์ทางปรัชญามาทำงานร่วมกัน ก็น่าจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก

>ข้อดีของหนังสือสองเล่มนี้มีบ้างไหม?

มีแน่นอนครับ กรณีที่หนังสือ ฟิสิกส์นิวตัน ได้รับการแก้ไขฟิสิกส์อย่างถูกต้องทั้งหมด (อาจจะรวมถึงธรรมะด้วย) ก็สามารถใช้ในการเรียนรู้ได้ เพราะผู้เขียนมีสไตล์การนำเสนอที่น่าสนใจ ส่วนเล่ม ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น นั้น หากเป็นเล่มที่ยังไม่ได้แก้ ซึ่งแพร่หลายไปพอสมควรแล้ว ก็คงต้องอ่านด้วยการวางใจกลางๆ คือ ไม่ด่วนเชื่อ หรือไม่เชื่อในทันที อย่างที่ชาวพุทธยึดถือ หลักกาลามสูตร ของพระพุทธองค์นั่นแหละ

จากนั้นถ้าสนใจจริงๆ ก็นำประเด็นที่ผู้เขียนกล่าวอ้างเอาไว้ไปสืบค้นจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ สอบถามจากผู้รู้และคิดพิจารณาด้วยตนเองโดยแยบคาย แต่ในยุคสมัยของความเร่งรีบเช่นนี้ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำเช่นนั้นได้ นี่แหละที่ทำให้นักวิชาการหรือคนที่ต้องการความถูกต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไข เพราะถ้าทำถูกตั้งแต่ต้นแล้ว ก็จะเหนื่อยและเสียเวลาน้อยลง จะได้นำเวลาไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ต่อไปได้

>มองว่าบทเรียนสำหรับกรณีนี้คืออะไร?

สรุปแบบกรณีทั่วไปเลย ไม่เฉพาะแต่กรณีนี้เท่านั้น สำหรับนักวิชาการนั้นเราจำเป็นต้องทำหน้าที่โดยให้ความรู้แก่สังคมหรือลุกขึ้นมาตั้งข้อสังเกตหรือทักท้วงสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเสนอแนวทางแก้ไข

ผู้อ่านที่สนใจก็ต้องเรียนรู้ ที่จะแยกแยะความจริงออกจากการคาดเดาและสำหรับนักเขียน ก็คงต้องศึกษาพื้นฐานของเรื่องที่ตนเองจะเขียนถึงให้ดี โดยหากเป็นเรื่องที่ศึกษาด้วยตนเอง ก็น่าจะมีที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้

ส่วนสำนักพิมพ์ก็คงต้องมีกระบวนการตรวจสอบและสร้างระบบบรรณาธิการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเมื่อคุณกำลังจัดพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับความรู้เฉพาะด้าน ยิ่งจำเป็นต้องสร้างกลไกตรวจสอบความถูกต้องของต้นฉบับ

แน่นอนว่าตัวบรรณาธิการอาจไม่สามารถรู้ได้ทุกเรื่อง แต่ควรสงสัยในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ และนำข้อสงสัยนั้นไปตรวจสอบ ซักถาม ขอความรู้จากแหล่งต่างๆ ซึ่งผมเชื่อว่ามีช่องทางในการตรวจสอบมากมาย

เพราะหนังสือนี่พิมพ์ออกมาแล้ว ยังอยู่อีกนาน อาจจะเกินกว่าชั่วชีวิตคนด้วยก็เป็นได้

รายงานโดย ปีกนกสีขาว

ที่มา: คอลัมน์ "Read & Write" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น